|
ภาพถ่ายประเภทวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ (สิทธิพร เตือนตะคุ) |
|
|
นับตั้งแต่วงการถ่ายภาพได้เข้าสู่ยุคดิจิทัล ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มหันมาชื่นชอบการถ่ายภาพกันมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวผมเริ่มเข้าสู่วงการถ่ายภาพมาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ระดับมัธยมศึกษา ซึ่งในสมัยนั้นมีแต่กล้องฟิล์มเท่านั้น ยังไม่มีกล้องดิจิทัลเหมือนสมัยนี้ การ “ลั่นชัตเตอร์” เพื่อถ่ายภาพแต่ละภาพ ต้องคิดแล้วคิดอีก ปรับแล้วปรับอีก เพราะฟิล์มม้วนหนึ่งถ่ายได้แค่ 36 ภาพเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นพอถ่ายเสร็จต้องนำฟิล์มไปล้างอัดภาพถึงจะได้เห็นผลงาน แต่นั่นแหละ คือเสน่ห์ของการถ่ายภาพ เสน่ห์ของการถ่ายภาพคือ “ต้องลุ้น” ลุ้นว่าภาพจะออกมาสวยหรือไม่ หรือโฟกัสพลาด ภาพเบลอทั้งหมดก็เป็นไปได้ ซึ่งต่างกับสมัยนี้ที่เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพก้าวหน้ามาก ถ่ายเสร็จก็แสดงผลให้เห็นทันที ไม่ดีก็ถ่ายใหม่ แถมคุณภาพของภาพก็มีความละเอียดมาก ทั้งยังมีฟังก์ชันและโหมดการถ่ายภาพสารพัด ทำให้การถ่ายภาพง่ายมากขึ้น ส่วนตัวผมนั้นกลับได้ประโยชน์จากการถ่ายภาพในยุคฟิล์ม เพราะเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับการถ่ายภาพในยุคดิจิทัล ทำให้เรามีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีในการถ่ายภาพ เล่าเรื่องตัวเองมากไปแล้วครับมาเข้าเรื่องกันดีกว่า จริงๆ แล้วกล้องดิจิทัลนั้นเริ่มมาจากกลุ่มนักถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ ที่ทำการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าเพื่อทำการศึกษาวิจัย โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการรับภาพนั้นเรียกว่า ซีซีดี (CCD : Charge Coupled Device) โดยในการถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าแต่ละภาพนั้นจะต้องถ่ายภาพผ่านฟิลเตอร์ต่างๆ เช่น R G B ซึ่งถ้าจะอธิบายง่ายๆ ก็เหมือนเราถ่ายภาพแต่ละแม่สี แล้วจึงนำเอาภาพที่ถ่ายผ่านแต่ละฟิลเตอร์นั้นมารวมกัน เปรียบเทียบง่ายๆ เหมือนการผสมสีจึงจะได้ออกมาเป็นภาพสีที่เราเห็นกัน และนั่นถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกล้องถ่ายภาพดิจิทัล ซึ่งในกล้องดิจิทัลปัจจุบันนั้นได้ใส่ฟิลเตอร์เอาไว้แล้วไม่ต้องลำบากเหมือนกับกล้องดิจิทัลในอดีตทำให้เราสามารถนำมาใช้ในการถ่ายภาพได้ง่ายมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพที่มีความก้าวหน้าและทันสมัยทำให้ใครๆ สามารถถ่ายภาพและสร้างสรรค์ภาพที่สวยงามได้ไม่ยากนัก ปัจจุบันเราเห็นโครงการประกวดภาพถ่ายประเภทต่างๆ มากมาย และหนึ่งในนั้นคือ การประกวดภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายทางดาราศาสตร์ในเมืองไทย” ที่ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 4 แล้ว ผมถือโครงการนี้ช่วยให้วงการถ่ายภาพมีสีสันขึ้น ทั้งยังเป็นมิติใหม่ของการถ่ายภาพซึ่งต่างจากการถ่ายภาพเดิมๆ ที่เราคุ้นเคยกัน และถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะนอกจากเราจะได้เห็นความสวยงามของภาพถ่ายแล้ว แต่ละภาพที่ส่งเข้าประกวดยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ ถือว่าได้ทั้งความงามและความรู้ด้วย และในปี 2554 นี้ก็มีผู้สนใจส่งภาพเข้าประกวดจำนวนมากกว่า 100 คน จำนวนมากกว่า 300 ภาพ ต่างจากปีก่อนๆ ที่มีจำนวนผู้ส่งเข้าภาพประกวดไม่ถึง 100 ภาพ การถ่ายภาพทางดาราศาสตร์ในการประกวดนั้นมีการแยกออกเป็น 5 ประเภทหลัก คือ - ประเภทภาพถ่าย Deep Sky Objects เช่น กาแล็กซี เนบิวลา และ กระจุกดาว เป็นต้น
|
|
(ซ้าย) โอไรออนเนบิวลา (M42) โดยศุภฤกษ์ คฤหานนท์ และ (ขวา) แอนโดรเมดากาแล็กซี (M31) โดย ศรัณย์ โปษยะจินดา |
|
|
- ประเภทภาพถ่ายปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ปรากฏการณ์สุริยุปราคา จันทรุปราคา ฝนดาวตก การบังกันของวัตถุในระบบสุริยะ และการเกิดคอนจังชัน (conjunction) ของวัตถุในระบบสุริยะ เป็นต้น
|
|
(ซ้าย) ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง โดย ศุภฤกษื คฤหานนท์ (ขวา) ปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน โดย ศรัณย์ โปษยะจินดา |
|
|
- ประเภทภาพถ่ายวัตถุในระบบสุริยะ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย และดวงจันทร์ เป็นต้น
|
|
(ซ้าย) ดวงจันทร์ โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ (ขวา) ดาวเสาร์ โดย ศรัณย์ โปษยะจินดา |
|
|
- ประเภทภาพถ่ายวิวธรรมชาติกับดาราศาสตร์ เช่น ภาพถ่ายที่ประกอบด้วยวัตถุบนพื้นโลกกับวัตถุบนท้องฟ้าที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ เป็นต้น
|
|
(ซ้าย) เส้นแสงดาวในทิศเหนือ โดย สิทธิพร เตือนตะคุ (ขวา) เส้นแสงดาวทิศตะวันออก โดย วทัญญู แพทย์วงศ์ |
|
|
- ประเภทสุดท้ายภาพถ่ายปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศของโลก เช่น ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า ดวงอาทิตย์ทรงกลด ดวงจันทร์ทรงกลด รุ้งกินน้ำ และเมฆ เป็นต้น ประเภทที่ได้ความความสนใจส่งภาพเข้าประกวดมากที่สุดคือ ภาพประเภทวิวทิวทัศน์กับดาราศาสตร์และปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลก หรือแม้กระทั่งประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ก็ได้รับความสนใจไม่น้อย ซึ่งเหตุผลน่าจะเนื่องมาจากในปี 2554 มีปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าสนใจอยู่หลายปรากฏการณ์ เช่น ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง ปรากฏการณ์สุริยุปราคา หรือแม้กระทั่งฝนดาวตก และปรากฏการณ์ดาวเคียงเดือน ก็มีผู้สนใจส่งภาพเข้าร่วมประกวดไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งสร้างความหนักใจแก่คณะกรรมการตัดสินคัดเลือกภาพถ่ายเป็นอย่างมาก ตัวผมเองก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตัดสินภาพ ซึ่งภาพที่ส่งเข้าประกวดจะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดว่ามีการใช้เทคนิคอะไร มีการปรับแต่งมากน้อยแค่ใหน และใช้อุปกรณ์อะไรในการถ่ายภาพ รวมถึงมีการปรับแต่งเกินจริงจนเรียกว่าเป็นภาพตัดแปะเลยก็มีไม่น้อย ซึ่งต้องตรวจสอบด้วยความละเอียดและระมัดระวังมากที่สุด
|
|
(ซ้าย) เมฆสี โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ (ขวา) ดวงอาทิตย์ทรงกลด โดย พิธาน สิงห์เสน่ห์ |
|
|
สาระสำคัญของภาพและเทคนิคในการถ่ายภาพแตกต่างกันไปตามประเภทของภาพ เช่น ประเภท Deep Sky ผู้ถ่ายภาพก็จำเป็นต้องมีความรู้ทางดาราศาสตร์พอสมควร รวมทั้งความรู้เรื่องการใช้กล้องโทรทรรศน์และเทคนิคในการติดตามวัตถุท้องฟ้า ประเภทปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ผู้ถ่ายก็จำเป็นต้องศึกษาถึงปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน เวลาเท่าใด และจะใช้เทคนิคอะไรในการบันทึกภาพ ประเภทวัตถุในระบบสุริยะ ผู้ถ่ายเองก็ต้องทราบตำแหน่งของวัตถุท้องฟ้า ขนาด ความสว่าง เวลาขึ้นตกของวัตถุท้องฟ้านั้นๆ รวมทั้งเทคนิคที่จะใช้บันทึกภาพว่าควรใช้กล้องทางยาวโฟกัสเท่าไหร่ ใช้เวลาถ่ายนานแค่ไหน ประเภทวิวทิวทัศน์กับวัตถุท้องฟ้าต้องรู้ทิศรู้มุม ตำแหน่ง ทิศทาง หรือรู้จักกลุ่มดาวรวมทั้งเทคนิคการถ่ายภาพในเวลากลางคืนอีกด้วย และประเภทสุดท้ายปรากฏการณ์ในบรรยากาศโลกต้องรู้จักสังเกต รวมถึงการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ต่างๆ ในชั้นบรรยากาศ
|
|
ตัวอย่างการซ้อนภาพโดยการตัดแปะ ซึ่งไม่ใช่ภาพที่ถ่ายได้จริง |
|
|
นอกจากนั้นแล้วภาพถ่ายทางดาราศาสตร์มีความแตกต่างจากการถ่ายภาพทั่วไปเพราะภาพถ่ายทางดาราศาสตร์นั้น นอกจากจะต้องมีความรู้ความเข้าใจทางดาราศาสตร์ แล้ว ยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงเทคนิคและกระบวนการในการถ่ายภาพรวมทั้งการวางแผนที่ดีด้วย โดยการเตรียมตัวในการถ่ายภาพทางดาราศาสตร์นั้น เราต้องเตรียมตัวหรือร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอเพราะเราต้องถ่ายภาพในเวลากลางคืนเป็นเวลานานๆ จากนั้นก็เป็นเรื่องของอุปกรณ์ในการถ่ายภาพ และการวางแผนการถ่ายภาพล่วงหน้าว่าเราจะถ่ายอะไร อยู่ตำแหน่งไหนบนท้องฟ้า อยู่ในกลุ่มดาวอะไร เวลาขึ้น-ตก และสถานที่ที่จะออกไปถ่ายภาพว่ามีแสงไฟรบกวนมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งการดูพยากรณ์อากาศว่ามีพายุ ฝนตก หรือไม่ และเหนือสิ่งอื่นใด“ดวง”ก็ยังเป็นสิ่งที่มาเกี่ยวข้อง เพราะหากวันใดที่เราเตรียมการทั้งอุปกรณ์ การวางแผนไว้แล้ว แต่หากช่วงเวลาที่ต้องการถ่ายกลับมาเมฆมาบดบังแสงดาวก็ทำให้เราไม่สามารถจะถ่ายภาพที่เราต้องการได้เช่นกัน *********************
เกี่ยวกับผู้เขียน ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ปัจจุบันเป็นเจ้าหน้าที่สารสนเทศทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. , เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร. ในหัวข้อ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย" "คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย" |
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น