วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคที่พบบ่อยช่วงฤดูหนาว



ไข้หวัดธรรมดา (Common Cold )

      ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัด มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด ซึ่งจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำให้เกิดการอักเสบของทางเดินหายใจส่วนต้น (จมูกและคอ) โรคนี้สามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยการอยู่ใกล้ชิดกัน จึงพบเป็นกันมากตามโรงเรียน และที่ๆมีคนอยู่รวมกลุ่มกันมากๆ เป็นโรคที่พบได้ตลอดทั้งปี มักจะพบมากในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
สาเหตุ เกิดจากเชื้อหวัด ซึ่งเป็นไวรัส (virus) มีอยู่มากกว่า 200 ชนิด กลุ่มไวรัสที่สำคัญ ได้แก่ กลุ่มไรโนไวรัส (Rhinovirus) ซึ่งมีมากกว่า 100 ชนิด เชื้อหวัดมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลาย และเสมหะของผู้ป่วยติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน นอกจากนี้ เชื้อหวัดยังอาจติดต่อโดยการสัมผัส กล่าวคือ ผู้ป่วยสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ (เช่น ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ จาน ชาม ของเล่น หนังสือ ฯลฯ) เมื่อคนปกติสัมผัสถูกมือของผู้ป่วย หรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อหวัด เชื้อหวัดก็จะติดมือของคน ๆ นั้น และเมื่อใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูก เชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของคน ๆ นั้น จนกลายเป็นไข้หวัดได้
แหล่งของโรค ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะแพร่เชื้อ
การติดต่อ ทางตรง โดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ทางอ้อม โดยการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย หรือรับเชื้อที่กระจายอยู่ในอากาศ โดยเฉพาะสถานที่แออัด
ระยะฟักตัว ประมาณ 1-3 วัน หรือ 12 – 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่รับเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย จนเริ่มปรากฏอาการให้เห็นแล้วเริ่มมีการอักเสบที่เยื้อบุทางเดินหายใจส่วนบน เช่น จมูก คอ เป็นต้น
ระยะติดต่อ ตลอดเวลาที่ผู้ป่วยมีเชื้อโรคอยู่ในร่างกาย ความไวต่อโรค และความต้านทาน เมื่อหายป่วยจะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้นระยะหนึ่งประมาณ 1 – 3 เดือน แต่เมื่อได้รับเชื้อหวัดพันธ์อื่นเข้าสู่ร่างกาย ก็อาจสามารถเป็นไข้หวัดได้อีกและเป็นได้บ่อยในแต่ละปี เด็กเล็กจะมีภูมิต้านทานต่อโรคหวัดน้อยกว่าผู้ใหญ่
อาการ มีไข้ตัวร้อนเป็นพัก ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะเล็กน้อย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอเล็กน้อย ไอแห้ง ๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้งอาจทำให้รู้สึกเจ็บแถวลิ้นปี่เวลาไอในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมาทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูงและชัก ท้องเดิน หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วยถ้าเป็นอยู่เกิน 4 วัน อาจมีน้ำมูกข้นเหลืองหรือเขียว หรือไอมีเสลดเป็นสีเหลืองหรือเขียว จากการอักเสบซ้ำของเชื้อแบคทีเรีย และอาจมีอาการอื่น ๆ แทรกซ้อนตามมา ซึ่งจำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยสิ่งตรวจพบไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวม และแดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบต่อมทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก และไม่มีหนอง 
อาการแทรกซ้อน
 ที่พบบ่อยเกิดจากการอักเสบแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรีย ทำให้มีน้ำมูกหรือเสลดเป็นสีเหลือง หรือเขียว ถ้าลุกลามไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เป็นต่อมทอนซิลอักเสบ , ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , หลอดลมอักเสบ , ปอดอักเสบ ในเด็กเล็ก อาจทำให้มีอาการชักจากไข้สูง , ท้องเดิน ,เสียงแหบ เนื่องจากกล่องเสียงอักเสบ บางคนอาจมีอาการวิงเวียน เนื่องจากอวัยวะการทรงตัวภายในหูชั้นในอักเสบ ซึ่งจะหายได้เองภายใน 3-5 วัน โรคแทรกซ้อนที่รุนแรงมักเกิดในผู้ป่วยที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร) ในทารกหรือคนสูงอายุการรักษาเนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น
การรักษาพยาบาล ให้ยารักษาตามอาการ ดังนี้
      1. สำหรับผู้ใหญ่ และเด็กโต (อายุมากกว่า 5 ปี) ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้ ถ้ามีอาการคัดจมูกมากหรือน้ำมูกไหลมาก ให้ยาแก้แพ้ เมื่อทุเลาแล้ว ควรหยุดยา ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ , ถ้าไอมาก ลักษณะไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ
      2. สำหรับเด็กเล็ก (อายุต่ำกว่า 5 ปี) ถ้ามีไข้ ให้ยาลดไข้ ถ้ามีน้ำมูกมากให้ใช้ลูกยางดูดเอาน้ำมูกออกบ่อย ๆ หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่ง สอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ควรชุบน้ำสุก หรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว) ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมาก ๆ
      3. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้ เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส
      4. ถ้าไอมีเสลดเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ และยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ วันละ 10-15 แก้ว (ห้ามดื่มน้ำเย็น), อาจให้ยาขับเสมหะ ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
      5. ถ้ามีอาการหอบ หรือหายใจเร็วกว่าปกติ หรือมีไข้นานเกิน 7 วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจเป็นปอดอักเสบ หรือ ภาวะรุนแรงอื่น ๆ ได้อาจต้องเอกซเรย์ หรือตรวจพิเศษอื่น ๆ
ข้อแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ป่วย ดังนี้
      - พักผ่อนมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังกายมากเกินไป
      - สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
      - ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไป เนื่องจากไข้สูง
      - ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อน ๆ
      - ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง ข้อแนะนำเหล่านี้สามารถใช้กับผู้ป่วยที่มีไข้จากสาเหตุอื่น ๆ ได้เช่นเดียวกัน
การป้องกัน
      1. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก อย่านอนปะปนกับผู้อื่น เวลาไอหรือจามให้ใช้ผ้าปิดปากหรือจมูก
      2. กวดขันการสุขาภิบาลโรงอาหาร ภาชนะ อุปกรณ์ ต้องสะอาดอยู่เสมอ ถ้าเจ้าหน้าที่ประกอบอาหาร หรือเจ้าหน้าที่โรงอาหารป่วยด้วยโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจต้องให้พักงานชั่วคราวจนกว่าจะหายเป็นปกติ
      3. ระวังรักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง
      4. อย่าตรากตรำงานหนักเกินไป แต่ควรออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ
      5. ไม่ควรเข้าไปในที่ที่มีคนแออัด เช่น ตามโรงมหรสพ โดยเฉพาะ ในขณะที่มีการระบาดของไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ การจัดที่พักทหารต้องมีอากาศถ่ายเทได้ดี
      6. ไม่ควรอาบน้ำหรือสระผมด้วยน้ำที่เย็นเกินไป โดยเฉพาะในเวลาที่มีอากาศเย็น
      7. ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ (ทั้งผู้ป่วย และคนที่อยู่ใกล้เคียง) และอย่าใช้นิ้วมือขยี้ตา หรือแคะจมูก
      8. อย่าใช้ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว แก้วน้ำ เครื่องใช้ ของเล่น ร่วมกับผู้ที่เป็นไข้หวัด การล้างมือบ่อย ๆ อาจมีส่วนป้องกันการติดเชื้อหวัด
ไข้หวัดใหญ่ (Influenza )
      ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปี แต่จะเป็นมากในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงธันวาคม บางปีอาจพบการระบาดทั่วโลก พบเป็นสาเหตุอันดับแรก ๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน
สาเหตุ เกิดจาก เชื้อไข้หวัดใหญ่ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า อินฟลูเอนซาไวรัส (Influenza virus) เชื้อนี้จะอยู่ใน น้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อ (เช่นเดียวกับไข้หวัด)
ระยะฟักตัว 1-4 วันเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่ 3 ชนิดใหญ่ ๆ เรียกว่า ชนิด เอ, บี และ ซี ซึ่งแต่ละชนิดยังแบ่งเป็นพันธุ์ย่อย ๆ ออกไปอีกมากมาย ในการเกิดโรคแต่ละครั้งจะเกิดจากพันธุ์ย่อยเพียงพันธุ์เดียว เมื่อเป็นแล้วก็จะมีภูมิต้านทานต่อพันธุ์นั้น แต่ไม่สามารถต้านทานพันธุ์อื่น ๆ ได้ จึงอาจติดเชื้อจากพันธุ์ใหม่ได้อีก
อาการ มักจะเกิดขึ้นทันทีทันใดด้วยอาการไข้สูง หนาว ๆ ร้อน ๆ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก (โดยเฉพาะที่กระเบนเหน็บ ต้นแขนต้นขา) ปวดศรีษะ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ขมในคอ อาจมีอาการเจ็บในคอคัดจมูก น้ำมูกใส ไอแห้ง ๆ จุกแน่นท้อง แต่บางรายก็อาจไม่มีอาการคัดจมูก หรือเป็นหวัดเลยก็ได้มีข้อสังเกตว่า ไข้หวัดใหญ่ มักเป็นหวัดน้อย แต่ไข้หวัดน้อยมักเป็นหวัดมาก ไข้มักเป็นอยู่ 2-4 วันแล้วค่อย ๆ ลดลง อาการไอ และอ่อนเพลีย อาจจะเป็นอยู่ 1-4 สัปดาห์ แม้ว่าอาการอื่น ๆ จะทุเลาแล้วก็ตาม บางคนเมื่อหายจากไข้หวัดใหญ่ แล้วอาจมีอาการวิงเวียนเหมือนเมารถเมาเรือ เนื่องจากมีอาการอักเสบ ของอวัยวะการทรงตัวในหูชั้นใน ซึ่งมักจะหายเองภายใน 3-5 วันสิ่งตรวจพบไข้ 38.5-40 ํซ หน้าแดง เปลือกตาแดง อาจมีน้ำมูกใส คอแดงเล็กน้อยหรือไม่แดงเลย (ทั้งๆ ที่ผู้ป่วยอาจรู้สึกเจ็บคอ) ส่วนมากมักตรวจไม่พบอาการผิดปกติอื่น ๆ
อาการแทรกซ้อน ส่วนมากจะหายได้เองโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนส่วนน้อยอาจมีภาวะแทรกซ้อน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไซนัสอักเสบ , หูชั้นกลางอักเสบ , หูชั้นในอักเสบ , หลอดลมอักเสบ, หลอดลมพอง ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคือ ปอดอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดจากแบคทีเรียพวก นิวโมค็อกคัส หรือ สแตฟฟีโลค็อกคัส (เชื้อชนิดหลังนี้ มักจะทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงถึงตายได้) ภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงมักจะเกิดในเด็กเล็ก คนสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน คนที่สูบบุหรี่จัด หรือผู้ป่วยที่มีโรคของปอดเรื้อรัง แต่อย่างไรก็ตามผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ถึงตายได้นั้น นับว่าน้อยมาก มักเกิดในเด็กเล็ก หรือคนสูงอายุที่ร่างกายอ่อนแออยู่ก่อน
การรักษา
      1. ให้การดูแลปฏิบัติตัว และรักษาตามอาการเหมือนไข้หวัด คือ นอนพักมาก ๆ ห้ามตรากตรำงานหนัก ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวหรือ ประคบด้วยแผ่นประคบเย็น เวลามีไข้สูง กินอาหารอ่อน ดื่มน้ำและน้ำหวาน หรือน้ำผลไม้มาก ๆ ให้ยาลดไข้แก้ปวด (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาแอสไพริน) ยาแก้ไอ เป็นต้น
      2. ยาปฏิชีวนะ ไม่จำเป็นต้องให้เพราะเป็นโรคที่เกิดจากไวรัส จะให้ก็ต่อเมื่อมีภาวะแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น มีน้ำมูกหรือเสลดสีเหลืองหรือเขียว, ไซนัสอักเสบ, หูชั้นกลางอักเสบ , หลอดลมอักเสบ เป็นต้น
      3. ถ้ามีอาการหอบ หรือสงสัยปอดอักเสบ โดยเฉพาะถ้าพบในคนสูงอายุหรือเด็กเล็ก ควรส่งโรงพยาบาล
ข้อแนะนำ
      1. โรคนี้ถือว่าไม่ใช่โรคที่ร้ายแรง ส่วนมากให้การดูแลรักษาตามอาการ ก็หายได้เองภายใน 3-5 วันข้อสำคัญ ต้องนอนพัก ดื่มน้ำมาก ๆ และห้ามอาบน้ำเย็น ถ้าไข้ลดลงแล้วควรอาบน้ำอุ่นอีก 3-5 วัน ในรายที่ไม่ได้พักผ่อน หรือตรากตรำงานหนักอาจหายช้า หรือมีภาวะแทรกซ้อน
      2. อาการไข้สูง ปวดเมื่อย และไม่มีอาการอื่น ๆ ชัดเจน อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ ในระยะเริ่มแรกก็ได้ เช่น ไข้รากสาดน้อย, ตับอักเสบจากไวรัส , ไข้เลือดออก, หัด เป็นต้น จึงควรสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ถ้ามีอาการอื่น ๆ ปรากฏให้เห็นก็ควรให้การรักษาตามโรคที่สงสัย ถ้าหากมีไข้นานเกิน 7 วัน มักจะไม่ใช่ ไข้หวัดใหญ่ แต่อาจมีสาเหตุจากโรคอื่น เช่น ไข้รากสาดน้อย , มาลาเรีย เป็นต้น ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดใหญ่ มักจะมีไข้ไม่เกิน 7 วัน
      3. ไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ บางครั้งอาจมีอาการคล้ายกันมาก แต่ไข้หวัดใหญ่มักมีไข้สูงและปวดเมื่อยมาก อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะแยกกันไม่ออก แต่ก็ให้การดูแลรักษาเหมือน ๆ กันการป้องกัน ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับไข้หวัด ส่วนวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ มักจะฉีดในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ ซึ่งจะป้องกันได้นานประมาณ12 เดือน ถ้ามีการระบาดในปีต่อ ๆ ไป ก็ต้องฉีดใหม่อีก โดยทั่วไปถ้าไม่มีการระบาด จะไม่ฉีดวัคซีนให้แก่คนทั่วไป ทั้งนี้เนื่องจากเชื้อไข้หวัดใหญ่มีอยู่หลายพันธุ์เราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าในการระบาดครั้งต่อไป จะเกิดจากเชื้อชนิดใด ในแง่ปฏิบัติ จึงไม่นิยมฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กัน
หัด ( Measles/Rubeor ) 
ลักษณะทั่วไป หัดพบมากในเด็กอายุ 2-14 ปี มักไม่พบในทารกอายุ ต่ำกว่า 6-8 เดือน เนื่องจากยังมีภูมิต้านทานที่ได้รับจากมารดาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ เป็นโรคติดต่อแพร่หลายได้รวดเร็ว มักพบระบาดตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี
สาเหตุ เกิดจากเชื้อหัดซึ่งเป็นไวรัส ที่ชื่อว่า รูบีโอลา ไวรัส (Rubeola virus ) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย ติดต่อโดยการไอ จาม หรือหายใจรดกัน หรือโดยการสัมผัสถูกมือหรือสิ่งของเครื่องใช้ที่แปดเปื้อนเชื้อ (เช่นเดียวกับไข้หวัด)
ระยะฟักตัว 9-11 วัน
อาการ มีอาการตัวร้อนขึ้นทันทีทันใด ในระยะแรกมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ผิดกันตรงที่จะมีไข้สูงอยู่ตลอดเวลา กินยาลดไข้ก็ไม่ลด เด็กจะซึม กระสับกระส่าย เบื่ออาหาร มีน้ำมูกใส ๆ ไอแห้ง ๆ น้ำตาไหล ตาแดง ไม่สู้แสง (จะหรี่ตาเมื่อถูกแสงสว่าง) หนังตาบวม อาจมีอาการถ่ายเหลวบ่อยครั้งเหมือนท้องเดินในระยะก่อนที่จะมีผื่นขึ้น หรืออาจชักจากไข้สูงลักษณะเฉพาะของหัด ก็คือจะมีผื่นขึ้นหลังมีไข้ 3-4 วัน เป็นผื่นแดงขนาดเท่าหัวเข็มหมุดขึ้นที่ตีนผมและซอกคอก่อน ผื่นนี้จะจางหายได้เมื่อดึงรั้งผิวหนังให้ตึง ต่อมาผื่นจะลามไปหน้าผาก ใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยจะค่อย ๆ แผ่ติดกันเป็นแผ่นกว้าง รูปร่างไม่แน่นอน อาจมีอาการคันเล็กน้อย ผื่นของหัดจะไม่จางหายไปทันที เช่น ไข้ออกผื่นอื่น ๆ แต่จะค่อย ๆ จางหายไปใน 4-7 วัน และจะเหลือให้เห็นเป็นรอยแต้มสีน้ำตาลอ่อน บางคนอาจมีหนังลอกอาการไข้สูงสุดในระยะใกล้ ๆ มีผื่นขึ้น และจะเริ่มลดเมื่อผื่นขึ้นแล้ว ไข้มักจะเป็นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์อาการทั่วไปจะค่อยๆ ดีขึ้นพร้อมกับที่ผื่นจาง แต่อาจจะมีอาการไอต่อไปได้อีก ในรายการที่มีโรคแทรกซ้อน อาจมีอาการหอบ ท้องเดิน ไม่ค่อยรู้ตัว หรือชัก
สิ่งตรวจพบ ไข้ 38.5-40.5 ํ ซ. หน้าแดง ตาแดง หน้าตาบวม เปลือกตาแดง ระยะ 2 วันหลังมีไข้ พบจุดสีขาว ๆ เหลือง ๆ ขนาดเล็ก คล้ายเมล็ดงาที่กระพุ้งแก้มบริเวณใกล้ฟันกรามล่าง (ถ้าเป็นมากจะพบอยู่เต็มกระพุ้งแก้ม) เรียกว่า จุดค็อปลิก (Koplik's spot) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวของหัด หลังไข้ขึ้น 3-4 วัน จะพบผื่นขึ้นที่หน้า ซอกคอ หลังหู ลำตัว แขนขาปอดจะมีเสียงปกติ ยกเว้นถ้ามีโรคปอดอักเสบแทรก ใช้เครื่องตรวจได้ยินเสียงกรอบแกรบ (Crepitation)
อาการแทรกซ้อน มักจะพบในเด็กที่ขาดอาหาร หรือมีร่างกายอ่อนแอ ที่พบบ่อย คือ ปอดอักเสบ , ท้องเดิน อาจพบหูชั้นกลางอักเสบ , ปากเปื่อย, หลอดลมอักเสบ , เยื่อตาขาวอักเสบ ที่รุนแรงถึงตายได้คือ สมองอักเสบ จะมีอาการหลังผื่นขึ้น 4-5 วัน โดยกลับมีไข้สูง ปวดศีรษะ ซึม และไม่รู้สึกตัว หรือชักกระตุก นอกจากนี้ ยังทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานลดลง มีโอกาสเป็นวัณโรคปอดได้ง่ายขึ้น ถ้ามีเชื้อมาลาเรียอยู่ก่อนก็จะเป็นมาลาเรียรุนแรงได้หรือไม่ก็อาจกลายเป็นโรคขาดอาหาร
การรักษา
      1. ให้ดูแลปฏิบัติตัวเหมือนไข้หวัด คือ พักผ่อน ห้ามอาบน้ำเย็น ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเวลามีไข้ขึ้นสูง ดื่มน้ำต้มสุก และน้ำหวานมาก ๆ ไม่ต้องงดของแสลง แต่ควรให้กินอาหารประเภทโปรตีนมาก ๆ
      2. ให้ยารักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ , ถ้าไอให้ยาแก้ไอ, ถ้าเด็กเคยชักให้ยากันชัก เป็นต้น
      3. ห้ามใช้ยาปฏิชีวนะ ตั้งแต่ระยะแรกเป็น เพราะนอกจากไม่มีความจำเป็นเนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบชนิดร้ายแรง ซึ่งยากแก่การรักษาได้
      4. ถ้าเด็กมีอาการท้องเดิน ให้รักษาแบบท้องเดิน
      5. ถ้าเด็กมีอาการไอมีเสลดข้นเหลืองหรือเขียว ให้ยาปฏิชีวนะ
      6. ถ้าเด็กมีอาการหอบมาก หรือ การหายใจเร็วกว่าปกติ (สงสัยเป็นปอดอักเสบรุนแรง) หรือท้องเดินจนมีอาการขาดน้ำรุนแรง หรือซึม ชัก (สงสัยเป็นสมองอักเสบ) ควรส่งโรงพยาบาลด่วนอาจมีอันตรายถึงตายได้
ข้อแนะนำ
      1. ควรแยกเด็กออกต่างหาก อย่าให้คลุกคลีกับเด็กอื่นเป็นเวลา 1 สัปดาห์นับแต่มีผื่นขึ้น
      2. โรคนี้ส่วนใหญ่จะหายได้เอง ส่วนน้อยที่มีโรคแทรกซ้อน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในผู้ใหญ่ มักมีความรุนแรงมากกว่าเด็ก) อาการจะรุนแรงระยะก่อน หรือหลังออกผื่นใหม่ ๆ แล้วค่อย ๆ ดีขึ้นตอนผื่นจาง กินเวลาประมาณ 7-14 วัน
      3. โรคนี้ไม่มีของแสลง เมื่อเด็กกินได้ควรบำรุงด้วยอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกเนื้อนมไข่ ซึ่งจะทำให้มีแรงต้านทานโรคได้มาก การอดของแสลงอาจทำให้เกิดโรคแทรกได้ง่ายขึ้น และอาจกลายเป็นโรคขาดอาหารได้
      4. โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสที่สามารถแพร่กระจายรวดเร็ว เด็กที่ไม่เคยออกหัด จึงมีโอกาสเป็นกันทุกคน เมื่อเป็นแล้วมักจะไม่เป็นซ้ำ เพราะมีภูมิต้านทานโรคได้นานตลอดไป
      5. การที่นิยมให้ยาเขียวแก่เด็กที่สงสัยจะออกหัดกินนั้น ไม่มีโทษอะไรมาก และยังช่วยให้เด็กได้ดื่มน้ำมากขึ้นด้วย จึงไม่ห้าม แต่ควรแนะนำให้พ่อแม่เด็กเฝ้าดูอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นด้วย
      6. มีความเชื่อกันว่า ถ้าเด็กเป็นไข้สูงที่ชวนให้สงสัยว่าเป็นหัด แต่ไม่มีผื่นขึ้น มักจะมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง จึงเรียกอาการเช่นนี้ว่า หัดหลบใน และมักจะให้เด็กกินยาเขียวเพื่อ "กระทุ้ง" ให้ผื่นขึ้น ความจริงคำว่า "หัดหลบใน" อาจมีความหมายได้สองแง่ แง่หนึ่ง หมายถึง อาการไข้สูงที่เกิดจากโรคติดเชื้อร้ายแรง (เช่น ปอดอักเสบ สมองอักเสบ) ที่เกิดจากเชื้อตัวอื่น พวกนี้จะมีอาการคล้ายหัด แต่ไม่มีผื่น เมื่อเป็นแล้วอาจตายได้ อีกแง่หนึ่ง อาจหมายถึงอาการของหัดในเด็กที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เด็กขาดอาหาร หรือเด็กที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานทางโรค พวกนี้เมื่อเป็นหัด มักจะไม่มีผื่นขึ้น เพราะร่างกายไม่มีปฏิกิริยาต่อเชื้อหัด (ซึ่งจะแสดงออกมาเป็นผื่นตามตัว) จึงเรียกว่า หัดหลบใน เด็กมักจะมีโรคแทรกรุนแรง (เช่น ปอดอักเสบ) ถึงตายได้
การป้องกัน สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน เมื่อเด็กอายุได้ 9-15 เดือน ฉีดเพียงเข็มเดียวป้องกันได้ตลอดไปวัคซีนป้องกันโรคหัดมีทั้งชนิดเดี่ยว ๆ และชนิดผสมรวมกับ วัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมัน และคางทูม ที่มีชื่อว่า MMR (เอ็มเอ็มอาร์)
หมายเหตุ อย่าให้ยาปฏิชีวนะแก่คนที่เป็นหัด อาจทำให้เป็นปอดอักเสบร้ายแรงได้

หัดเยอรมัน ( Rubella )
      ลักษณะทั่วไป หัดเยอรมันเป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มีอาการไข้ และออกผื่นคล้ายหัด แต่มีความรุนแรงและโรคแทรกซ้อนน้อยกว่าหัด ถ้าเป็นกับเด็กหรือผู้ใหญ่ทั่วไปมักจะหายได้เอง โดยไม่มีโรคแทรกซ้อนที่รุนแรงที่สำคัญคือ ถ้าเกิดในหญิงตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก เชื้ออาจแพร่กระจายเข้าทารกในครรภ์ทำให้ทารกพิการได้ โรคนี้มักพบระบาดในโรงเรียน โรงงาน ที่ทำงาน ที่มีคนอยู่กันมาก ๆ ในช่วงเดือนมกราคมถึงเมษายน สาเหตุ เกิดจากเชื้อหัดเยอรมัน เป็นไวรัสที่มีชื่อว่า รูเบลลา (Rubella) ซึ่งมีอยู่ในน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วยติดต่อโดยการ ไอ จาม หรือ หายใจรดกัน เช่นเดียวกับไข้หวัด หรือหัด
ระยะฟักตัว 14-21 วัน 
อาการ มีไข้ต่ำ ๆ ถึงปานกลาง ร่วมกับมีผื่นเล็ก ๆ สีชมพูอ่อนขึ้นกระจายทั่วไป ผื่นมักอยู่แยกจากกันชัดเจน(แต่อาจแผ่รวมกันเป็นแผ่นได้) เริ่มขึ้นที่หน้าผากตรงชายผม รอบปาก และใบหูก่อน แล้วลงมาที่คอ ลำตัว และแขนขา ผื่นอาจมีอาการคันหรือไม่ก็ได้ ผื่นอาจขึ้นในวันเดียวกับที่มีไข้ หรือหลังมีไข้1-2 วัน และมักจะจางหายภายใน 3-5 วัน โดยจางหายไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทิ้งรอยแต้มดำ ๆ ให้เห็นเหมือนผื่นของหัดบางคนอาจมีผื่นขึ้นโดยไม่มีไข้ หรือมีไข้โดยไม่มีผื่น บางคนอาจมีอาการแสบตาเคืองตา เจ็บคอเล็กน้อย ปวดเมื่อยตามตัวเล็กน้อย อาการโดยทั่วไปมักไม่ค่อยรุ่นแรง และดูท่าทางค่อนข้างสบายบางคนอาจติดเชื้อหัดเยอรมัน โดยไม่มีอาการแสดงใด ๆ เลยก็ได้ สิ่งตรวจพบ ไข้ 37.5 - 38.5 ํ ซ. ผื่นแดงเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วตัว ตาแดงเล็กน้อยที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ถึงลักษณะของโรคนี้ คือ มีต่อมน้ำเหลืองโต (คลำได้เป็นเม็ดตะปุ่มตะป่ำ)ตรงหลังหูหลังคอ ท้ายทอย และข้างคอทั้ง 2 ข้าง อาการแทรกซ้อน อาจทำให้ข้อนิ้วมือนิ้วเท้าอักเสบเล็กน้อย ข้อสำคัญ คือ ถ้าเป็นในหญิงมีครรภ์ 3 เดือนแรก อาจทำให้ทารกในครรภ์พิการได้ (ครรภ์ภายในเดือนที่ 1 พบทารกพิการถึง 10% - 50%, ภายในเดือนที่ 2 พบได้ 14%-25%, ภายในเดือนที่3 พบได้ 6%-17% และหลังเดือนที่ 3 พบได้ 0-5%) ทำให้ทารกที่คลอดออกมาเป็นต้อกระจกต้อหิน หูหนวก หัวใจพิการแบบต่าง ๆ เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ ตับอักเสบ (ดีซ่าน) ซีด มีจ้ำเขียวขึ้นตามตัว สมองอักเสบ ปัญญาอ่อน เป็นต้น ความพิการเหล่านี้อาจเกิดร่วมกัน หรือเป็นเพียงอย่างเดียวก็ได้ การช่วยเหลือให้สู่ภาวะปกติทำได้น้อยราย เราเรียกทารกที่ติดเชื้อหัดเยอรมันขณะอยู่ในครรภ์ดังกล่าวนี้ว่า โรคหัดเยอรมันโดยกำเนิด (Congenital rubella)
การรักษา 
      1. สำหรับหัดเยอรมันที่พบในเด็ก และผู้ใหญ่ทั่วไป (ที่ไม่ได้ตั้งครรภ์) ให้การรักษาตามอาการเช่น ยาลดไข้ ถ้าคันทายาแก้ผดผื่นคัน โดยทั่วไปมักจะหายภายใน 3-5 วัน
      2. ถ้าพบในหญิงตั้งครรภ์ระยะ 3 เดือนแรก ควรแนะนำไปโรงพยาบาล อาจต้องตรวจเลือดพิสูจน์ ถ้าเป็นจริงควรแนะนำให้ทำแท้ง
ข้อแนะนำ
      1. ควรอธิบายให้ประชาชนทั่วไปทราบว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงที่เกิดกับคนทั่วไป ความรุนแรงมีน้อยกว่าหัดด้วยซ้ำไป แต่ที่สร้างปัญหา คือ ส่วนที่เกิดกับหญิงตั้งครรภ์อ่อน ๆ(ภายในระยะ 3 เดือน) เท่านั้น ที่ทำให้ทารกในครรภ์เกิดมาพิการ
      2. โรคนี้เป็นแล้วจะไม่เป็นซ้ำอีก เพราะภูมิต้านทานโรคไปชั่วชีวิต
      3. หญิงที่เป็นหัดเยอรมัน ให้คุมกำเนิดไว้ 3 เดือน เพื่อความแน่ใจว่าทารกจะปลอดภัย
      4. ในระยะที่มีการระบาดของโรค สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว ซึ่งยังไม่เคยฉีดวัคซีน หรือเคยเป็นโรคนี้มาก่อน ควรคุมกำเนิดไว้ก่อนจนพ้นระยะระบาด ระหว่างนี้ควรฉีดวัคซีนป้องกัน
      5. หญิงมีครรภ์ที่มีอาการไข้และมีผื่นขึ้น หรืออยู่ใกล้ชิดกับคนที่เป็นโรคหัดเยอรมัน (แม้จะไม่มีอาการอะไรเลยก็ตาม) ควรไปพบแพทย์ ถ้าพบว่าเป็นหัดเยอรมัน สำหรับหญิงที่ตั้งครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก แพทย์จะแนะนำให้ทำแท้งส่วนครรภ์ในระยะเดือนที่ 7-9 ทารกมักจะปลอดภัย ส่วนครรภ์ในระยะเดือนที่ 4-6 ทารกอาจมีโอกาสพิการ แต่น้อยมาก แพทย์จะตัดสินใจเป็นราย ๆ ว่าจำเป็นต้องทำแท้งหรือไม่ การป้องกัน โรคนี้สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน ถ้าฉีดครั้งแรกตอนอายุ 9-15 เดือน ควรฉีดกระตุ้นอีกครั้งเมื่ออายุ 12-16 ปี แต่ถ้าเริ่มฉีดเข็มแรกตอนโต ก็ไม่จำเป็นต้องฉีดกระตุ้น คนที่ควรแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้มากที่สุด คือ กลุ่มเด็กหญิงวัยรุ่น และกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์ถ้าเป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนในระยะที่มีประจำเดือน และคุมกำเนิดอย่างน้อย 8 สัปดาห์ เหตุผลไม่ใช่เพราะว่า วัคซีนมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่เนื่องจากวัคซีนจะสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้จริง ๆ หลังฉีด 6-8 สัปดาห์ไปแล้ว ถ้าระหว่างนี้มีการติดเชื้อจากผู้อื่นอาจบดบังอาการของโรคได้ และอาจมีอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้

ไข้สุกใส ( Chickenpox/Varicella ) 

      ลักษณะทั่วไป ไข้สุกใสเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กวัยเรียน ในผู้ใหญ่อาจพบได้บ้าง ซึ่งมักเป็นคนที่ไม่เคยเป็นโรคนี้มาก่อน แล้วมักจะมี อาการ และภาวะแทรกซ้อนมากกว่าที่พบในเด็กมักพบระบาดในตอนปลายฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน (มกราคมถึงเมษายน) เช่นเดียวกับหัด แต่ก็พบได้ประปรายตลอดทั้งปี สาเหตุ เกิดจากเชื้ออีสุกอีใส ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลาไวรัส (Varicella virus) หรือ Human herpesvirus type 3 เป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ทำให้เกิดงูสวัด ติดต่อโดยการสัมผัสถูกตุ่มน้ำโดยตรงหรือสัมผัสถูกของใช้ (เช่น แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว ผ้าห่ม ที่นอน) ที่เปื้อนถูกตุ่มน้ำของคนที่เป็นอีสุกอีใสหรืองูสวัด หรือสูดหายใจเอาละอองของตุ่มน้ำ ผ่านเข้าทางเยื่อเมือก อาการ เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลียและเบื่ออาหารเล็กน้อย ในผู้ใหญ่มักมีไข้สูง และปวดเมื่อยตามตัวคล้ายไข้หวัดใหญ่ นำมาก่อน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้น ซึ่งจะขึ้นพร้อม ๆ กันกับวันที่เริ่มมีไข้ หรือ 1 วันหลังจากมีไข้ เริ่มแรกจะขึ้นเป็นผื่นแดงราบก่อน ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มนูน มีน้ำใส ๆ อยู่ข้างในและมีอาการคัน ต่อมาจะกลายเป็นหนอง หลังจากนั้น 2-4 วัน ก็จะตกสะเก็ด ผื่นและตุ่มจะขึ้นตามไรผมก่อน แล้วลามไปตามหน้าลำตัว และแผ่นหลัง จะทยอยขึ้นเต็มที่ภายใน 4 วัน บางคนมีตุ่มขึ้นในช่องปาก ทำให้ปากเปื่อย ลิ้นเปื่อย เจ็บคอ บางคนอาจไม่มีไข้ มีเพียงผื่นและตุ่มขึ้น ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเริม ได้ เนื่องจากผื่นตุ่มของโรคนี้จะค่อย ๆ ออกทีละระลอก (ชุด) ขึ้นไม่พร้อมกันทั่วร่างกาย ดังนั้นจะพบว่า บางที่ขึ้นเป็นผื่นแดงราบ บางที่เป็นตุ่มใส บางที่เป็นตุ่มกลัดหนอง และบางที่เริ่มตกสะเก็ด ด้วยลักษณะนี้ จึงเรียกว่า อีสุกอีใส (มีทั้งตุ่มสุกตุ่มใส)
สิ่งตรวจพบ มีผื่นแดงราบ ตุ่มใส ตุ่มหนอง กระจายตามหน้า ลำตัว และแผ่นหลัง มักพบว่ามีไข้
อาการแทรกซ้อน พบได้น้อยในเด็ก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่ อาจมีภาวะแทรกซ้อนได้บ่อยและรุนแรงขึ้นที่พบได้บ่อยคือ ตุ่มกลายเป็นหนองจากเชื้อแบคทีเรีย พุพอง ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้ บางคนอาจกลายเป็นปอดอักเสบ ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง มักเกิดในคนที่ใช้ยาที่ลดภูมิต้านทานโรค
การรักษา
       1. แนะนำการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย เช่น พักผ่อน, ดื่มน้ำมาก ๆ, ถ้ามีไข้สูง ห้ามอาบน้ำเย็น, ควรใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อย ๆ, ถ้าปากเปื่อยลิ้นเปื่อยใช้น้ำเกลือกลั้วปาก, ควรอาบน้ำฟอกสบู่ให้สะอาด เพื่อป้องกันมิให้ตุ่มกลายเป็นหนองผู้ป่วยควรตัดเล็บให้สั้น และพยายามอย่าแกะ หรือเกาตุ่มคัน
       2. ให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ , ทายาแก้ผื่นคัน , ถ้าคันมากให้ยาแก้แพ้ เป็นต้น (ในเด็กควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจทำให้เป็นเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้)
       3. ถ้าตุ่มกลายเป็นหนอง ให้ทาด้วยขี้ผึ้งเตตราไซคลีน หรือ เจนเชียนไวโอเลต ถ้าเป็นมากให้ยาปฏิชีวนะ
       4. ถ้ามีอาการรุนแรงเช่น หอบ ชัก ซึม ไม่ค่อยรู้ตัว ควรส่งโรงพยาบาล
ข้อแนะนำ
      1. โรคนี้ส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง และหายได้เอง โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี ไข้อาจมีอยู่เพียงไม่กี่วัน ส่วนตุ่มจะตกสะเก็ดหลุดหายใน 1-3 สัปดาห์ ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคนี้ มีความรุนแรงมากกว่าผู้ป่วยเด็ก
      2. โรคนี้เมื่อเป็นแล้ว มักมีภูมิต้านทานไปจนตลอดชีวิต จะไม่เป็นซ้ำอีก
      3. ไม่ควรใช้ยาที่เข้าสเตอรอยด์ทั้งยากิน (เช่น ยาชุด) และยาทา เพราะอาจทำให้โรคลุกลามได้
      4. ควรแยกผู้ป่วยออกต่างหาก ระยะแพร่เชื้อติดต่อให้คนอื่นได้ คือ ตั้งแต่ระยะ 24 ชั่วโมงก่อนมีผื่นขึ้น จนกระทั่งระยะ 6 วันหลังผื่นตุ่มขึ้น
      5. ไม่มีของแสลงสำหรับโรคนี้ ควรให้ผู้ป่วยกินอาหารพวกโปรตีน ให้มากๆ เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค
      6. ในปัจจุบันมียาต้านไวรัส - อะไซโคลเวียร์ (Acyclovir)แต่จะพิจารณาใช้ในรายที่จำเป็น เช่น มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ, เป็นปอดอักเสบจากเชื้ออีสุกอีใส
การป้องกัน      ในปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันโรคอีสุกอีใสใช้แล้ว แต่ราคาค่อนข้างแพง จึงแนะนำให้ฉีดในคนที่มีอายุมากกว่า 15 ปีขึ้นไปที่ยังไม่เคยเป็นโรคนี้ โดยเฉพาะ อย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดโรคนี้สูง เช่นบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลเด็กในสถานเลี้ยงเด็ก ครูอนุบาลหรือชั้นประถมศึกษา เป็นต้นควรเจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อโรคนี้ก่อน (ถ้าตรวจพบแสดงว่าเคยได้รับเชื้อแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีน) ส่วนคนที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ส่วนใหญ่จะมีโอกาสติดเชื้อโดยธรรมชาติอยู่แล้ว และมักจะเป็นไม่รุนแรง จึงมีความจำเป็นในการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ไม่มาก หมายเหตุ เด็กที่เป็นอีสุกอีใส ควรตัดเล็บให้สั้น และอย่าเกาตุ่มคัน อาจทำให้กลายเป็นแผลเป็นได้

โรคตาแดง ( Eye Conjunctivitis ) 
      โรคเยื่อตาอักเสบหรือโรคตาแดง พบว่าเคยระบาดในช่วงปลายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาวสาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัสการติดต่อ เชื้อโรคออกมากับขี้ตาของผู้ป่วย แล้วแพร่ไปสู่ผู้อื่นทั้งโดยตรงและโดยอ้อม เช่น การใช้ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า หรือเครื่องใช้ร่วมกัน โรคนี้จะระบาดได้ง่ายในทหารที่พักอยู่รวมกัน หากมีคนใดคนหนึ่งเป็นโรคนี้ เชื้อโรคอาจติดมากับมือที่ใช้จับต้องของใช้ร่วมกับผู้ป่วยแล้วนำมาสัมผัสตาทำให้เกิดการติดเชื้อได้อาจแพร่โดยแมลงหวี่ ที่ชอบตอมตาหรือาจเกี่ยวกับการอาบน้ำในแหล่งน้ำที่มีผู้ใช้น้ำร่วมกันมากๆ อาการ มีอาการอักเสบของเยื่อบุตาอย่างรุนแรง และมักมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้เคืองตามาก ตาพร่ามัว และมีน้ำตาไหลมาก หนังตาบวม อาจมีอาการตาแดงข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้าง
การรักษา ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัส ใช้รักษาตามอาการ คือ ให้รับประทานยาแก้ปวด นอนพัก หรืออาจหยอดยาปฏิชีวนะป้องกันแบคทีเรียแทรกซ้อน โรคมักหายเองภายใน 1- 2 สัปดาห์ แต่หากมีอาการแทรกซ้อน เช่น กระจกตาดำอักเสบเป็นแผลจะเคืองและปวดตารุนแรง ควรรีบไปพบจักษุแพทย์
การป้องกันและควบคุม 
      1. เมื่อพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้ต้องรีบแยกผู้ป่วยทันที และให้ส่งสถานพยาบาลใกล้เคียง
      2. ปฏิบัติตามสุขศาสตร์ส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการไม่ใช้สิ่งของและภาชนะร่วมกัน ขณะเกิดการระบาดของโรคให้ระมัดระวังการติดเชื้อบริเวณห้องส้วม ห้องน้ำ และห้องอาหาร
      3. แนะนำให้ทหารทราบถึงอาการของโรคนี้ เมื่อปรากฏอาการที่น่าสงสัย ให้รีบปรึกษาเจ้าหน้าที่แพทย์ทันที
      4. เมื่อมีอาการตาแดงหรืออาการที่สงสัยว่าเป็นโรคนี้ไม่ควรล้างตาเพราะในน้ำตามีภูมิต้านทาน การล้างตาเท่ากับการล้างเอาภูมิต้านทานทิ้งไป และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อลามจากตาข้างหนึ่งไปสู่ตาอีกข้างหนึ่งได้

รายละเอียดเพิ่มเติมจากบันทึกกรมแทย์ทหารเรือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น