วันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

กระทงสาย จังหวัดตาก

กระทงสาย ประเพณี ลอยกระทง ที่จังหวัดตาก

 
 
 ประเพณีสาย ไหลประทีปพันดวง ถือเป็น ประเพณีของชาวเมืองตากที่นำวิถีชีวิตของบรรพชนมาผสมผสานเข้ากับความเชื่อ และหลักศาสนา ซึ่งเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษได้ปลูกฝังและถ่ายทอดมาสู่จิตสำนึกของลูกหลานไทยมา แต่บรรพกาล ก่อให้เกิดประเพณีที่ร้อยรักรวมใจของคนเมืองตากให้เป็นหนึ่งเดียว
ในอดีต ชาวเมืองตากจะมีถิ่นอาศัยอยู่บริเวณริมฝั่งแม่น้ำปิง วิถีชีวิตของชาวตากจึงมีความผูกพันกับสายน้ำที่เปรียบเสมือนสายโลหิตที่หล่อ เลี้ยงชาวเมืองตากมานานหลายชั่วอายุคน จากความกตัญญูรู้คุณต่อสายน้ำ ก่อให้เกิดประเพณีที่แสดงออกถึงความกตัญญู ในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสองชาวเมืองตากได้จัดให้มีการขึ้น ประเพณีสาย ไหลประทีปพันดวง เกิดจากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านในหมู่บ้านในการดำเนินกิจกรรม อันเป็นความเชื่อในการจัดทำกระทงนำไปลอย เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นการลอยทุกข์โศกโรคภัยให้พ้นไปจากตนเอง และขอขมาที่ได้อาศัยแม่น้ำและทิ้งของเสีย ถ่ายเทสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำปิง โดยใช้โอกาสนี้ในการพบปะพูดคุย จัดกิจกรรมรื่นเริงภายในหมู่บ้านอีกด้วย
เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวเมืองตากทุกครัวเรือนจะนำด้ายดิบ (ด้ายที่ปั่นมาจากฝ้าย) มาฟั้น ด้วยแต่ละเส้น จะประกอบด้วยด้ายเส้นเล็กๆ จำนวน 9 เส้น จากนั้นจะนำด้านที่ฟั้นเสร็จแล้วมาวัดตามความยาวของแขนที่กางออกทั้งสองข้าง ของสมาชิกภายในบ้านทุกคน เรียกว่า วัดวา แล้วเด็ดออก ด้ายแต่ละเส้นจึงมีความยาวไม่เท่ากันแล้วแต่ว่าผู้วัดจะมีความยาวของแขน เท่าไร จากนั้น นำด้ายที่วัดวาแล้วมาวัดที่ศรีษะของผู้เป็นเจ้าของด้ายเส้นนั้น เมื่อวัดรอบศรีษะได้เท่าใดก็ให้เด็ดออก จากนั้นนำด้ายที่วัดรอบศีรษะที่เด็ดออกมามัดต่อเข้ากับด้ายเส้นเดิม การกระทำเช่นนี้เป็นความเชื่อของผู้เท่าผู้แก่ ถือว่าเป็นการต่ออายุให้กับตนเอง ด้ายฟั่นที่เหลือจากการวัดวาก็จะนำมาทำฟั่นให้เป็นรูปตีนกา มีจำนวนเท่ากับสมาชิกในครอบครัว หรือมากกว่านั้นก็ได้ตามแต่ศรัทธา ต่อจากนั้นจึงนำด้ายทุกเส้นและตีนกา มาแช่ในน้ำมะพร้าว การทำตีนกาเป็นความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า แสงไฟจากตีนกาจะเป็นการบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ตามตำนวนเล่าว่า มีเณรน้อยผู้ชอบเที่ยวซุกซนองค์หนึ่ง มีนิสัยชอบล่าสัตว์ ยิงนก ตกปลาอยู่เป็นประจำ วันหนึ่งได้ยิงไก่, วัว, เต่า และพญานาคตาย แต่ก่อนสัตว์เหล่านั้นจะตายเณรน้อยได้เกิดสำนึกในบาปที่ตนได้ล่าสัตว์และ ทรมานสัตว์เหล่านั้น จึงได้อธิษฐานร่วมกับไก่, วัว, เต่า และพญานาคว่า ถ้าเกิดในชาติหน้าขอให้ได้เกิดเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน
 

 ณ ริมฝั่งแม่น้ำ มีต้นไทรใหญ่อยู่ต้นหนึ่งเป็นที่อยู่ของกาเผือกสองผัวเมีย ซึ่งได้ออกไข่มา 5 ฟอง อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่กาเผือกสองผัวเมียออกไปหาอาหารได้เกิดท้องฟ้ามือครึ้ม มีลมพายุพัดอย่างแรง ทำให้ไข่กาเผือกทั้ง 5 ฟอง ลอยตกลงไปในแม่น้ำ แต่ไข่นั้นหาจมน้ำไม่ กลับลอยไปติดที่ชายหาดแห่งหนึ่งและไข่ทั้ง 5 ฟอง ก็แตกออกเป็นทารก 5 คน ทารกทั้ง 5 คนนั้น คือ เณรน้อย, ไก่, วัว, เต่า และพญานาค ที่กลับมาเกิดนั่นเอง ทารกทั้ง 5 คน ได้พากันอธิษฐานร่วมกันว่า ถ้าตนทั้ง 5 ได้เป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันก็ขอได้มีโอกาสพบพ่อแม่ด้วยเถิด ฝ่ายกาเผือกสองผัวเมียเมื่อตายลงก็ไปเกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ ได้เข้าฝันทารกทั้ง 5 ว่า “หากเจ้าทั้ง 5 คน อยากเห็นหน้าและระลึกถึงพ่อแม่ ก็จงฟั่นด้ายเป็นรูปตีนกา แล้วลอยแม่น้ำคงคาไป” ทารกทั้ง 5 จึงทำตาม และต่อมาทั้ง 5 คน ได้บำเพ็ญตนจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์เป็นพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์
 

 การสายของชาวเมืองตากทุกวันเพ็ญเดือนสิบสอง จึงมีการฟั้นด้ายเป็นรูปตีนกา เพื่อขอบูชาแม่กาเผือกของพระเจ้า 5 พระองค์ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้ ในเวลาพลบค่ำ ชาวบ้านแต่ละครัวเรือก็จะนำด้ายวัดวา รวมทั้งตีนกาที่แช่น้ำมันมะพร้าว พร้อมด้วยกระทงที่จะนำไปลอยตามจำนวนสมาชิกในครัวเรือนและดอกไม้ธูปเทียน ไปที่วัดภายในหมู่บ้าน เพื่อนำด้ายที่วัดวาไปพาดบนคานไม้ แล้วจุดไฟที่ด้ายของแต่ละคน ส่วนตีนกาที่เตรียมมาด้วยก็จะนำไปวางพบถ้วยดินเผา ซึ่งเรียกว่า “ถ้วยประทีป” นำน้ำมันมะพร้าวใส่ลงไป การใช้น้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิงนั้น นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่นำสิ่งที่ได้จากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งน้ำมันมะพร้าวจะมีกลิ่นหอม มีควันน้อยเมื่อจุดไฟ การจุดไฟที่ด้ายและตีนกาถือเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่า แสงไฟจะสร้างความสว่างไสวให้กับชีวิตของตนเอง นอกจากฟั้นด้ายและตีนกาแล้ว แต่ละครัวเรือนจะเตรียมทำกระทงเพื่อใช้ลอยขอขมาแม่พระคงคา ด้วยการนำกาบกล้วยหรือกาบพลับพลึงมาเย็บเป็นกระทง ใช้ธูปพันด้วยด้ายชุบน้ำมันมะพร้าวเป็นเชื้อเพลิง และมีการจัดแพ “ผ้าป่าน้ำ” ที่ทำด้วยต้นกล้วยตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูปเทียน และธงหลากสี ซึ่งตัดตกแต่งเป็นลวดลายอย่างงดงามจากกระดาษแก้ว ใส่หมากพลู บุหรี่ ขนม ผลไม้ และเศษสตางค์ เพื่อเป็นพุทธบูชา แม่พระคงคาในสายน้ำปิง เมื่อเสร็จพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ชาวบ้านก็จะเริ่มร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนาน และไปร่วมกันที่ริมฝั่งแม่น้ำ หลังจากนั้นจะมีผู้เฒ่าผู้แก่เป็นผู้นำในการกล่าวคำขอขมา และนำแพผ้าป่าน้ำ ลงลอย ต่อจากนั้นชาวบ้านก็จะนำกระทงที่เตรียมมาลงลอย ต่างคนก็ต่างปล่อยกระทงของตนเอง จากกระทงหนึ่งใบเป็นสอง สาม สี่ จำนวนกระทงจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สร้างสรรค์ความงดงามในลำน้ำผสมผสานกับเสียงร้องรำทำเพลง เสียงดนตรีของกลุ่มชาวบ้าน สร้างความคึกครื้นและความบันเทิงที่ไม่เหมือนที่แห่งใดในประเทศไทย นับเป็นบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ก่อเกิดความรัก ความสามัคคี และความศรัทธา
ปัจจุบัน การสายจะใช้กระทงกะลามะพร้าว แทนกระทงที่ทำจากกาบกล้วยและกาบพลับพลึง เนื่องจากการดำเนินชีวิตของชาวเมืองตากที่มีการทำไส้เมี่ยงเป็นอุตสาหกรรม ภายในครัวเรือน และเมี่ยงเป็นอาหารว่างที่คนเมืองตากนิยมรับประทานกัน นอกจากนั้น ยังเป็นสินค้าพื้นเมืองที่เป็นที่นิยมในภาคเหนืออีกด้วย เนื่องจากไส้เมี่ยงมีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบสำคัญ เมื่อขูดเอาเนื้อมะพร้าวออกหมดแล้ว กะลามะพร้าวจึงเป็นวัสดุเหลือใช้ และสามารถนำมาเป็นวัสดุในการทำกระทง เพื่อนำมาลอยในคืนเพ็ญเดือนสิบสอง โดยมีการนำแพผ้าป่าน้ำมาลอยเป็นกระทงนำ และจะมีกระทงปิดท้าย เพื่อเป็นการบ่งบอกถึงการสิ้นสุดการสายแต่ละสาย ในการสายจะมีการร้องรำทำเพลงประกอบด้วย
สำหรับ “ประทีปพันดวง” หรือที่เรียกว่ากระทงสายก็คือ กระทงจำนวน 1,000 กระทงนั่นเอง เหตุที่ต้องใช้กระทงจำนวนมาก ก็เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและสวยงาม
ประเพณีสาย เดิมจัดเฉพาะในหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ เท่านั้น ต่อมาเทศบาลเมืองตากได้มีการฟื้นฟูประเพณีดังกล่าวขึ้นมา เพื่อให้ประเพณีสาย เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตาก และได้เชิญชวนชาวบ้านจากชุมนุมต่างๆ จัดส่งกระทงสายเข้าประกวดตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2532 เป็นต้นมา ต่อมาในปี พุทธศักราช 2540 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช โปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัลสำหรับทีมชนะเลิศในการประกวดกระทงสาย และในปี พุทธศักราช 2541 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระประทีป สำหรับอัญเชิญลงลอยเป็นกระทงนำ ในวันเปิดงานสาย ไหลประทีป 1,000 ดวง เพื่อเป็นสิริมงคลแก่งาน และในปี พุทธศักราช 2544 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระประทีปร่วมลอยด้วย
 



ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2556

ประเพณียี่เป็ง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          ทุกวันเพ็ญเดือนยี่ (เดือนสอง) ของล้านนา ภาพโคมนับร้อย ๆ ดวงค่อย ๆ ลอยละลิ่วส่องแสงสว่างเจิดจ้าอยู่บนท้องฟ้าเหนือจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนั่นเป็นสัญลักษณ์ของ "ประเพณียี่เป็ง" หรือประเพณีเดือนยี่ หรือประเพณีลอยกระทงแบบล้านนา ซึ่งประเพณีนี้งดงามจนใครที่อยากไปสัมผัสกับความตระการตาเหล่านี้สักครั้ง 
          ดังนั้น จังหวัดเชียงใหม่ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จังหวัดเชียงใหม่จึงขอเชิญนักท่องเที่ยวสัมผัสเทศกาลงาน "ประเพณียี่เป็ง เชียงใหม่ 2556" ที่จะมีขึ้นในวันที่ 16-18 พฤศจิกายน 2556 ณ ถนนช้างคลาน ย่านไนท์บาซาร์ อำเภอเมือง ซึ่งภายในงานจะมีการแสดงแสง สี เสียง การปล่อยโคมลอย การแสดงศิลปวัฒนธรรมล้านนา และขบวนแห่กระทงขบวนโคมยี่เป็ง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ chiangmai.go.th)
          นอกจากนี้ ยังมี "งานบุญกฐินล้านนา" ซึ่งจัดขึ้นที่ ธุดงคสถานล้านนา อำเภอสันทราย ในวันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.00–20.30 น. โดยจะมีกิจกรรมประกอบด้วย การปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และปล่อยโคมถวายเป็นพุทธบูชา ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย และ "Yee Peng International"ซึ่งเป็นกิจกรรมปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิ และปล่อยโคมถวายเป็นพุทธบูชา ณ ธุดงคสถานล้านนา ในวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2556 (ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงาน 100 USD สามารถจองตั๋วได้ที่www.yeepenglanna.com) ทั้งนี้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ธุดงคสถานล้านนา โทรศัพท์ 0 5335 3174

ประเพณียี่เป็ง
ภาพจาก Shutterstock.com/Tappasan Phurisamrit
ประวัติประเพณียี่เป็ง

          ในภาษาคำเมืองของทางเหนือ "ยี่" แปลว่า สอง และคำว่า "เป็ง" หมายถึง เพ็ญ หรือพระจันทร์เต็มดวง ดังนั้น จึงหมายถึง ประเพณีพระจันทร์เต็มดวงในเดือนสอง โดยในพงศาวดารโยนกและจามเทวี มีบันทึกว่าครั้งหนึ่งได้เกิดอหิวาตกโรคขึ้นในแคว้นหริภุญไชย (หรือหริภุญชัย) ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพไปอยู่เมืองหงสาวดี นานถึง 6 ปี จึงจะเดินทางกลับมายังบ้านเมืองเดิมได้ เมื่อเวลาเวียนมาถึงวันที่จากบ้านจากเมืองไป จึงได้มีการทำกระถางใส่เครื่องสักการบูชา ธูปเทียนลอย ลอยตามน้ำเพื่อให้ไปถึงญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป เรียกว่า การลอยโขมด หรือลอยไฟ

          ประเพณียี่เป็ง จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ ซึ่งถือว่าเป็น "วันดา" หรือวันจ่ายของเตรียมไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัด ครั้นถึงวันขึ้น 14 ค่ำ พ่ออุ้ยแม่อุ้ยและผู้มีศรัทธาก็จะพากันไปถือศีลฟังธรรม และทำบุญเลี้ยงพระที่วัด มีการทำกระทงขนาดใหญ่ตั้งไว้ที่ลานวัด ในกระทงนั้นจะใส่ของกินของใช้ ใครจะเอาของมาร่วมสมทบด้วยก็ได้ เพื่อเป็นทานแก่คนยากจน และในวันขึ้น 15 ค่ำ จึงนำกระทงใหญ่ที่วัดและกระทงเล็ก ๆ ของส่วนตัวไปลอยในลำน้ำ

ประเพณียี่เป็ง

          ในงานบุญยี่เป็งนอกจากจะมีการปฏิบัติธรรม ฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังมีการประดับตกแต่งวัด บ้านเรือน และถนนหนทางด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย ทางมะพร้าว ดอกไม้ ตุง ช่อประทีป และชักโคมยี่เป็งแบบต่าง ๆ ขึ้นเป็นพุทธบูชา พอตกกลางคืนก็จะมีมหรสพและการละเล่นมากมาย มีการแห่โคมทองพร้อมกับมีการจุดถ้วยประทีป (การจุดผางปะติ๊ด) เพื่อบูชาพระรัตนตรัย ซึ่งการจุดโคมไฟประดับตกแต่งตามวัดวาอาราม และการจุดโคมลอยปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าเพื่อบูชาพระเกตุแก้วจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ตามความเชื่อการปล่อยว่าวไฟหรือโคมลอยนี้ เพื่อให้นำเอาเคราะห์ร้าย ภัยพิบัติต่าง ๆ ออกไปจากหมู่บ้าน ดังนั้น ว่าวหรือโคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปถ้าไปตกในบ้านใคร บ้านนั้นต้องจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์เพื่อล้างเสนียดจัญไรทั้งปวงออกไป นอกจากนี้ ยังถือกันว่าเป็นการทำเพื่อบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และเพื่อความสนุกสนาน สร้างความสามัคคีกันในหมู่บ้านอีกด้วย